เนื้อหาการเรียนรู้/ใบความรู้

ใบความรู้ที่ ๑

ใบความรู้ที่ ๑
เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ

ความหมายของเรียงความ
          เรียงความ  เป็นงานเขียนชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมีจุดประสงค์จะถ่ายทอดความรู้  ความคิด  ทรรศนะ  ความรู้สึก  ความเข้าใจออกมาเป็นเรื่องราว  ด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างชัดเจนและท่วงทำนองการเขียนที่น่าอ่าน 
การเลือกเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
          หากจะต้องเป็นผู้เลือกเรื่องเอง  ควรเลือกตามความชอบ  หรือความถนัดของตนเอง
การค้นคว้าหาข้อมูลอาจทำได้โดยการค้นคว้าจากหนังสือ นิตยสาร วารสาร อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่น ๆ
ประเภทของเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
          ๑. เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้
          ๒. เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ
          ๓. เรื่องที่เขียนเพื่อโน้มน้าวใจ
 องค์ประกอบของเรียงความ
          เรียงความมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน  คือ  คำนำ  เนื้อเรื่อง  และสรุป  งานเขียนทุกประเภทจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสามส่วนนี้  ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดขององค์ประกอบพร้อมกับกลวิธีการเขียนต่อไปนี้
          ๑. คำนำ  เป็นส่วนหนึ่งของเรียงความส่วนแรกที่มีหน้าที่เปิดประเด็นเข้าสู้เรื่อง  เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องอะไร  เพื่อชักนำให้คนสนใจอ่านเนื้อเรื่องต่อไป  คำนำเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของเรียงความเพราะเป็นส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้อ่านหันมาสนใจเรื่องราวที่เขียน  ผู้อ่านจะอ่านเรื่องต่อไปหรือไม่  ก็อยู่ที่คำนำนั้นเอง 
          ๒. เนื้อเรื่อง หรือ เนื้อความ  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการเขียนเรียงความ  เพราะเป็นส่วนที่เสนอความรู้ความคิดความเข้าใจทรรศนะหรือความรู้สึกของผู้เขียนให้แจ่มแจ้งโดยอาจจะยกอุทาหรณ์  สุภาษิต  และประสบการณ์ของผู้เขียนมาสนับสนุนเรื่องที่เขียนได้
          นักเรียนจะต้องคิดก่อนเป็นขั้นแรกว่า  จะเลือกเขียนเรื่องอะไร  มีวัตถุประสงค์และมีขอบเขตในการเขียนกว้างหรือแคบเพียงใด  เมื่อคิดวางแผนเป็นลำดับดังกล่าวแล้ว  ก็เริ่มเขียนโครงเรื่องเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน
          ขั้นตอนต่อไปคือการเรียงเนื้อหาไปตามโครงเรื่องที่ได้กำหนดไว้  โครงเรื่องที่กำหนดไว้เป็นข้อ ๆ นั้นก็คือเนื้อหาในย่อหน้าหนึ่ง ๆ นั้นเอง  เมื่อจะขยายความแต่ละหัวข้อก็ย่อมจะได้ย่อหน้าที่มีเนื้อหาเป็นเอกภาพและมีน้ำหนัก  และถ้าเขียนแต่ละย่อหน้ามีประโยคใจความสำคัญ  และมีประโยคขยายความที่สนับสนุนประโยคใจความสำคัญอย่างชัดเจนแล้ว  เรียงความเรื่องนั้นก็จะเป็นเรียงความที่มีเนื้อหาสมบูรณ์เรียงความแต่ละเรื่องจะมีย่อหน้าเรื่องเท่าใดก็ได้  แต่เป็นไปไม่ได้ที่เรียงความเรื่องหนึ่งจะมีย่อหน้าเนื้อเรื่องเพียงย่อหน้าเดียว
          ในการเขียนเรียงความนั้น  การใช้ถ้อยคำภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก  นักเรียนจะต้องพิถีพิถันในการใช้ภาษา  ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาแบบเป็นทางการ  กล่าวคือภาษาจะถูกต้องตามหลักการเขียน  มีการเลือกสรรถ้อยคำมาเรียบเรียงให้กะทัดรัด  ชัดเจนอ่านเข้าใจง่าย  ราบรื่น  สละสลวย  และมีลีลาการเขียนที่น่าสนใจ 
          ๓. สรุป  เป็นส่วนสุดท้ายของเรียงความที่ผู้เขียนจะเน้นความรู้  ความคิดหลักหรือประเด็นสำคัญของเรื่องที่เขียนอีกครั้งหนึ่ง  การสรุปนับว่ามีส่วนสำคัญเท่ากับคำนำ  เพราะเป็นส่วนช่วยเสริมให้เรียงความมีคุณค่าขึ้น  
การวางโครงเรื่องก่อนเขียน
          เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้ว  ต้องวางโครงเรื่องโดยคำนึงถึงการจัดการจัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพันธ์        ต่อเนื่องกัน  เช่น


ใบความรู้ที่ ๒



คำอธิบาย: http://edu4load.files.wordpress.com/2011/11/43-e0b882e0b8b2e0b8a7e0b894e0b8b3.jpg?w=604
ใบความรู้ที่ ๒
เรื่อง เทคนิคการเขียนเรียงความที่ดี
ลักษณะเรียงความที่ดี
          ๑.  มีเอกภาพ  หมายความว่า  เนื้อเรื่องจะต้องมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่กล่าวนอกเรื่อง  เรียงความ จะมีเอกภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการว่างโครงเรื่อง

          ๒.  มีสัมพันธภาพ  หมายความว่า  เนื้อหาจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตลอดทั้งเรื่อง  ความสัมพันธ์     ต่อเนื่องของเนื้อหาเกิดจากการจัดลำดับความคิด  และการวางโครงเรื่องที่ดี  และเกิดจากการเรียบเรียงย่อหน้า       อย่างมีระเบียบ 
          ๓.  มีสารัตถภาพ  หมายความว่า  เรียงความแต่ละเรื่องจะต้องมีสาระสมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่อง  ความสมบูรณ์  ของเนื้อหาเกิดจากการวางโครงเรื่องที่ดี 
 หลักการเขียนคำนำ

          นักเรียนจะต้องเลือกวิธีการเขียนคำนำให้เหมาะสมกับประเภทของงานเขียนเนื้อหาที่เขียนรวมทั้งรับสารด้วย ปกติมักจะนิยมเขียนคำนำเพียงย่อหน้าเดียว  การเขียนคำนำสามารถกระทำได้หลายวิธี  

          ลักษณะของคำนำที่ดี
          -  ควรเขียนคำนำให้ตรงและสอดคล้องกับเรื่องที่เขียน
          -  ไม่ควรเขียนคำนำที่อ้อมค้อม  มีเนื้อหาไกลจากเรื่องที่เขียน  อาจทำให้ผู้อ่านไม่ทราบจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเขียนเรื่องอะไร 
          -  ไม่ควรเขียนคำนำที่ยาวเกินไป  ไม่ได้สัดส่วนกับเนื้อเรื่อง  คำนำที่ดีควรมีเพียงย่อหน้าเดียวเท่านั้นอาจมีความยาวประมาณ ๕ บรรทัด  (ยกเว้นมีคำประพันธ์ผสมอยู่ด้วย)   
          -  ในการเขียนคำนำไม่ควรออกตัวว่าไม่พร้อม  หรือไม่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้อ่านไม่สนใจอ่านก็ได้  
          -  คำนำที่ดี  คือ  คำนำที่บอกให้รู้ได้ทันทีว่าจะเขียนอะไร  และต้องเขียนให้กระชับและเร้าความสนใจด้วย  
          ตัวอย่างการเขียนคำนำที่ดี
          คำนำเริ่มด้วยการยกคำพูด  คำคม  หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ
          “ใครทำให้ข้าเสียใจชั่วครู่  ข้าจะทำให้มันเสียใจไปตลอดชีวิต”  เป็นคำกล่าวของพระนางซูสีไทเฮาผู้ยิ่งใหญ่    ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง  ซึ่งมิใช่คำขู่หรือคำเล่าลือที่ไร้ความจริง  ความยำเกรงของผู้คนทั้งในราชสำนักทหารพลเรือนและประชาชนทั่วแผนดินที่มีต่อพระนางเป็นสิ่งยืนยันคำกล่าวข้างตนนี้เป็นอย่างดีและยังบอกให้รู้ถึงอำนาจอันล้นฟ้า   ของผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์และองค์จักรพรรดิเป็นเวลานานถึง ๔๗ ปี”
  (ดวงดาว  ทิฆัมพร.  “ซูสีไทเฮา  หญิงบ้านนอกผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าชีวิต,”  มิติใหม่.  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔,  หน้า  ๗๔)

          คำนำที่เริ่มด้วยบทร้อยกรอง
                             “สงสารคำทำการนานแล้ว         ดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ
                   มันถูกใช้หลายอย่างไม่วางมือ                 แต่ละมื้อตรำตรากยากเต็มที
                   ตำรวจเห็นโจรหาญทำการจับ                โจรมันกลับวิ่งทะยานทำการหนี
                   ทำการป่วยเป็นลมล้มพอดี                    ทำการจี้จับหมายว่าตายเอย” 
          
          วันนี้เริ่มต้นด้วยคำกลอนให้เต็มที่เสียหน่อย  เปล่า  ผู้เขียนไม่ได้เก่งกาจถึงกับแต่งขึ้นมาเองดอกแต่กลอนข้างบนนี้เป็นพระนิพนธ์ของ น.ม.ส.  ปรากฏในหนังสือประมวญวันเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว  แสดงว่ามีคนรำคาญคำว่า  ทำการ   
กันมานานแสนนานแล้วถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังรำคาญอยู่  เพราะแม้แต่ในรายงการโทรทัศน์ยอดนิยม  รายการหนึ่ง  คือ รายการภาษาไทยวันละคำ  ก็ยังกล่าวไว้  
                                 (นิตยา  กาญจนวรรณ, “เรื่องของ “ทำการ”,” ใน พูดจากภาษาไทย, หน้า ๑๕๙)  



          คำนำที่โน้มน้าวและชักจูงให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตาม
          กินมากแล้วก็ต้องอ้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้ ๆ กันอยู่  แต่คนสมัยนี้ไม่อยากอ้วนเพราะอ้วนแล้วสร้างปัญหาให้มากมาย  ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเกาต์ และโรคความดันโลหิตสูง บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนส่วนใหญ่จึงอยากจะผอม  แต่ถ้าต้องการผอมก็หยุดกิน  เรื่องที่จะทำให้คนอ้วนหยุดกินเป็นการแนะนำง่าย  แต่ปฏิบัติตามได้ยาก การสอนคนอ้วนให้กินอย่างถูกวิธี  จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
         (วินัย  ดะส์ลัน,  “กินให้ผอม.”  เนชั่นสุดสัปดาห์,  ปีที่ ๔ แบบฉบับที่ ๑๙๖,  (๘-๑๔ มีนาคม ๒๕๓๙)

          คำนำที่กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนเพื่อนำเข้าสู่เรื่อง
          ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด  ได้แก่  สถูปเจดีย์และสถูปเจดีย์ที่มีทั้งความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแห่งหนึ่ง คือ พระปฐมเจดีย์  
                                       (วิบูลย์  ลี้สุวรรณ, “พระปฐมเจดีย์”  ใน ๕ นาทีกับศิลปะไทย,  หน้า ๒๓๓.)

          คำนำที่เริ่มด้วยคำถามหรือข้อความน่าประหลาดใจ  
          ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่มีข้อความบางตอนอ้างถึงของวิเศษอย่างหนึ่งเรียกว่าตราราหู   
มีลักษณะประหลาดโดยรูปลักษณ์และคุณสมบัติทำให้เกิดความทึ่งแก่ผู้อ่านว่า  สิ่งนี้คืออะไรแน่  และสุนทรภู่ไปได้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนี้มาจากไหน  เรื่องตราราหูเป็นอย่างไรน่าจะพิจารณาดู  
                                   (ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา.  “ตราราหูในพระอภัยมณี.”  ใน  วรรณวิทยา.  หน้า ๙๑)  



วิธีการเขียนสรุป
          การสรุปควรมีเนื้อหาสอดคล้องกับคำนำและประเด็นของเรื่อง  ย่อหน้าสรุปไม่ควรยาว  (ประมาณ ๕-๗ บรรทัด  อาจมีคำประพันธ์ประสมอยู่ด้วย)  แต่ให้มีใจความกระชับประทับใจผู้อ่าน  วิธีการสรุปมีหลายวิธี  นักเรียนอาจนำวิธีการเขียนคำนำบางวิธีมาใช้ในการสรุปได้  เช่น  การสรุปด้วยคำถาม  การสรุปด้วยคำคม  สุภาษิต  และบทร้อยกรอง
หรือสรุปด้วยข้อความที่ให้แง่คิด  เป็นต้น  

          ตัวอย่างการเขียนสรุปความที่ดี
          การสรุปด้วยการฝากข้อคิดและความประทับใจให้แก่ผู้อ่าน
          ดังนั้นถ้าเราอยากให้น้ำใจเกิดขึ้นในสังคมของเรา  ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองกันทุกคน  อย่ามัวเรียกร้องให้คนอื่นมีน้ำใจเพราะถ้าเราไม่มีน้ำใจ  การเรียกร้องให้ผู้อื่นมีน้ำใจต่อเราจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว  และถ้าเรามีน้ำใจแล้วก็ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมีน้ำใจ  น้ำใจของเราต่างหากที่จะเพาะความมีน้ำใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องเรียกร้อง  
(ปรีชา ช้างขวัญยืน.“คอลัมน์ปากกาขนนก เรื่องน้ำใจ,สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์.ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๗,หน้า  ๕๘.)
          การเขียนสรุปด้วยข้อคำคม  สุภาษิต  และบทร้อยกรอง
          ขณะนี้วิชชาอันเนื่องมากจากลัทธิบริโภคนิยมได้เข้าไปสั่นคลอนจรรยาบรรณในทุกวิชาชีพ  ทำให้ผู้คนมักมากและมีวิธีการสร้างความยอมรับแปลกๆ  ไม่ได้เว้นแม้แต่นักวิชาการและครูบาอาจารย์ โชคยังดีอยู่บ้างที่ยังเหลือ ผู้เข้มแข็งออกมาแสดงบทบาทให้ในระดับสาธารณะอยู่บ้างประปราย  เป็นกระแสธารน้อยที่ไหลแรงมิพักจะหยุดไหลมีบทบาท     สมดังคำยกย่องของกวีของชาติ  เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  ที่ว่า 
                                      ครูคือผู้ชี้นำทางความคิด  ให้รู้ถูกรู้ผิดคิดอ่านเขียน
                             ให้รู้ทุกข์ยากรู้พากเพียร             ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้รู้สร้างงาน
                             ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์     ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน
                             ครูคือผู้สั่งสมอุดมการณ์             ปณิธานเพื่อมวลชนใช่ตนเอง
                     (กมลสมัย  วิชิระไชยโสภณ. นักวิชาการกับสังคม, “ก้าวไกล”. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒,หน้า ๒๓)  

          การเขียนสรุปด้วยคำถามให้ผู้อ่านเก็บไปคิดหรือไตร่ตรองต่อไป  
          ภาษาไทยปัจจุบันนี้กำลังเสื่อมมาก   ถึงเวลาหรือยังที่เราจะคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังน่าจะกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาลได้แล้วว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการค้นคว้าศึกษาเรื่องภาษาไทยเพื่อเป็นการให้ภาษาไทยมีความเจริญมั่นคง     สมกับที่ภาษาเป็นวัฒนธรรมสำคัญยิ่งของชาติ  
                      (เปลือง ณ นคร. “ศาลฎีกาแห่งภาษา”. สารสถาบันภาษาไทย. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓, หน้า ๒๔.)

          การเขียนสรุปด้วยการชักชวนให้ปฏิบัติตาม
          ที่กล่าวมานั้นเป็นวิธีการโกงการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรใช้วิจารณญาณของท่านตัดสินดูพฤติกรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าเป็นเช่นไร  หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากล  หรือพบการทุจริตอย่างเห็นได้ชัด  อย่างคิดว่าธุระไม่ใช่  แต่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเพื่อขจัดคนเลวให้พ้นจากวงจรประชาธิปไตยของเรา ขอให้เราเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้เพื่อประชาธิปไตยที่สดใสของเราในวันหน้า  
                                                 (สำนักงานสารนิเทศ. “การซื้อเสียง”, ใน ใจถึงใจ เล่ม ๒. หน้า ๕๑.)

การใช้โวหารในการเขียน

          โวหาร  หมายถึง  วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง  โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ  ได้แก่  พรรณนาโวหาร  บรรยายโวหาร  อุปมาโวหาร  เทศนาโวหาร  สาธกโวหารและอธิบายโวหาร
            ๑. บรรยายโวหาร  หมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์  เป็นการเขียนตรงไปตรงมา  ไม่เยิ่นเย้อ  มุ่งความชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้  ความเข้าใจ  เช่น  การเขียนเล่าเรื่อง  เล่าเหตุการณ์  การเขียนรายงาน  เขียนตำราและเขียนบทความ

          “ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคอ  ตัวมันสูงใหญ่  ใบหูไหวพะเยิบ  หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง  เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้าวห่อใบตองขึ้นมาให้เขา
          ๒. พรรณนาโวหาร  หมายถึง  การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล  สิ่งของ ธรรมชาติ  สภาพแวดล้อม  ตลอดจนความรู้สึกต่าง ๆ ของผู้เขียน  โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
           สมใจเป็นสาวงามที่มีลำแขนขาวผ่องทั้งกลมเรียวและอ่อนหยัด  ผิวขาวละเอียดเช่นเดียวกับแขน ประกอบด้วยหลังมืออวบนูน  นิ้วเล็กเรียว  หลังเล็บมีสีดังกลีบดอกบัวแรกแย้ม

          ๓. เทศนาโวหาร  หมายถึง  การเขียนอธิบาย  ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ  ชี้ให้เห็นประโยชน์หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง  เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม  เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่งสอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน
          “ การทำความดีนั้น  เมื่อทำแล้วก็แล้วกัน  อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย  ราวกับว่าการทำความดีนั้นช่างยิ่งใหญ่นัก  ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา  ถ้าคิดเช่นนั้นความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียวแต่ถ้าทำแล้วก็ไม่น่านำมาใส่อีก  คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี  จึงจะเป็นความดีทีสมบูรณ์ ไม่ตกไม่หล่น
          ๔. อุปมาโวหาร  หมายถึง  การเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน  เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น  โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน  เปรียบเทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง  หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความที่ขัดแย้งกัน

          “ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณ  ย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต  ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์  ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน
          ๕. สาธกโวหาร  หมายถึง  การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อสนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ
          “ อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน  แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ  เมื่อกวนอูตายแล้วม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำและตายตามเจ้าของไปในไม่ช้า  ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่นนอกจากนายของมัน

หลักการใช้สำนวนภาษาในเรียงความ
          ๑. ใช้ภาษาให้ถูกหลัก
          ๒. ไม่ควรใช้ภาษาพูด
          ๓. ไม่ควรใช้ภาษาแสลง
          ๔. ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น
          ๕. ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล
          ๖. ผูกประโยคให้กระชับ

สิ่งที่ควรคำนึงในการเขียนเรียงความ
          ๑.  เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน  มีความเป็นเอกภาพ  และแต่ละย่อหน้า    ต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์  เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน

            ๒.  การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ  จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียงความในเรื่องที่ตนเอง       มีความรู้และความสนใจ  รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด
            ๓.  การเลือกใช้ถ้อยคำ  ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน  มีการใช้โวหารประกอบ  ใช้ภาษาระดับทางการ  ส่วนภาษาพูด  คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนเรียงความ
          ๔.  กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกดการันต์  การเว้นวรรคตอน  การเรียบเรียงถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง  สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงาม       และน่าติดตามอ่านจนจบ 
       เมื่อนักเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการเขียนเรียงความมาโดยลำดับ  นับตั้งแต่การเลือกเรื่องการเขียน
โครงเรื่อง  การเรียบเรียงเนื้อเรื่องตามองค์ประกอบของเรียงความและการเขียนย่อหน้าที่ดีนักเรียนก็จะได้เรียงความ
เรื่องหนึ่ง  แต่เรียงความเรื่องนั้นยังนับว่าไม่สมบูรณ์  ถ้านักเรียนยังไม่ได้ทบทวนเพื่อแก้ไขปรับปรุง  การตรวจทาน
เป็นขั้นตอนการเขียนขั้นสุดท้ายที่จำเป็น  ไม่ควรละเลยขั้นตอนนี้อย่างเด็ดขาด  เพราะจะได้ตรวจทานว่าเรื่องนั้นมีภาษาและเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่  เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อนส่งครู


เทคนิคการฝึกฝนการเขียนเรียงความ
          ๑. เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ
          ๒. เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องง่าย ๆ
          ๓. การเขียนครั้งแรกอาจเขียนเป็นประโยคคร่าวๆ ไว้ก่อน เพื่อเป็นการสร้างโครงเรื่อง
          ๔. ฝึกขยายข้อความจากประโยคหรือโครงเรื่องที่ตั้งไว้
          ๕. ลงมือเขียนทันทีที่พบเห็นสิ่งใดหรือเมื่อเกิดความคิดขึ้น

         
ตัวอย่างรียงความที่ดี (ที่ได้รับรางวัลการประกวด)


 
                                        เรียงความเรื่อง "ทำไมเราจึงรัก พระเจ้าอยู่หัว"

                                                                                               โดย นางสาวมยุดา สมเพ็ชร 
           หนูเป็นเด็กต่างจังหวัดอยู่ปักษ์ใต้  ตั้งแต่จำความได้ในทีวีหนูก็เห็นรูปผู้ชายคนหนึ่งเดินนำหน้าแล้วมีผู้คน
เดินตามหลังท่านมากมายไปหมด  พร้อมกันนั้นก็มีผู้คนนั่งกับพื้นต้อนรับท่านทุกที่ที่ท่านไป  ผู้ชายคนนั้นเป็นใครนะ  
จนโตหนูถึงได้รู้ว่า  เขาคือผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินเกิดของหนูเอง  และหนูก็เห็นพระราชกรณียกิจของท่านเยอะแยะมากมาย
ทางทีวี  จนทำให้หนูปลาบปลื้มท่านมากยิ่งเป็นช่วงหน้าฝน  ฝนตกหนัก  น้ำท่วมท่านก็เสด็จไปปักษ์ใต้เพื่อดูปัญหา
ความเดือดร้อน และท่านก็โปรดให้สร้างเขื่อนคลองชลประทาน ส่วนช่วงหน้าแล้งท่านก็เสด็จไปภาคอีสาน 
ไปดูความแห้งแล้งของคนอีสาน  และท่านก็ทำฝนเทียมช่วยเหลือประชาชน 
           หนูได้แต่คิดตลอดเวลาว่า... ทำไมผู้ชายคนนี้ต้องลำบากตัวเองขนาดนี้  ท่านเดินทางไปทุกที่ที่ทุรกันดาร
และสุดแสนจะลำบาก  ท่านทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทั้งประเทศ  ท่านทรงเก่งมากสามารถรู้หมดว่าในพื้นที่เมืองไทยว่าตรงไหนเป็นภูมิประเทศลักษณะไหน  แอ่งน้ำ  ภูเขา  อย่างเช่น ใกล้บ้านหนูที่ อ.ปากพนัง  ท่านก็ทำอ่างเก็บน้ำใหญ่โตมากเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  และอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณ อ.ปากพนัง  ญาติพี่น้องหนูที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ประกอบอาชีพทั้งการเกษตรและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทั้งปี 
           สำหรับตัวหนูแล้ว  หนูคิดและฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งหนูจะต้องเห็นผู้ชายคนนี้ตัวจริง ๆ สักครั้งในชีวิต แล้วหนูก็มีความพยายามมาก  คือวันที่ ธันวาคม 2549 ซึ่งก่อนวันเกิดท่าน วัน  เพราะวันที่ ธันวาคม ของทุกปี  เป็นวันพ่อ
แห่งชาติหนูทราบข่าวว่าท่านจะเสด็จกลับจากวังไกลกังวล  เพื่อมาร่วมงานที่ทางรัฐบาลได้จัดขึ้น  หนูก็เลยมารอรับเสด็จท่านอยู่หน้าโรงเรียนสวนจิตรลดา  ท่านเสด็จมาตอนเกือบ ทุ่ม ท่านนั่งมากับพระราชินี  พระราชินีท่านโบกมือให้หนู แต่พระเจ้าอยู่หัวนั่งนิ่งมากค่ะ  แต่หนูเห็นพระพักตร์ท่านชัดมาก หนูดีใจมาก  และก่อนหน้านี้หนูก็ไปงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ มิถุนายน 2549 ที่มีผู้คนเป็นแสน  หนูก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีความพยายาม  หนูขอลาพักร้อนไป วัน เพื่อไปเฝ้ารับเสด็จท่านที่ลานพระรูปทรงม้า หนูตื่นตั้งแต่ ตี ซื้อน้ำเปล่า ขวด กับ ขนมปัง ถุง เพื่อไปรอรับเสด็จท่าน  ถึงขนาดที่รอนั้นหนูลำบากขนาดไหนห้องน้ำก็ไม่พอ  ร้อนก็ร้อน  แต่หนูทนได้ค่ะ  เพราะหนูคิดว่า...ท่านทรงเหนื่อยกว่าหนูมากมายนัก  และท่านก็เหนื่อยมาตลอดชีวิตของท่านเพื่อประชาชนของท่าน  และท่านก็ออกมาจากหน้าต่างมาโบกไม้โบกมือให้กับหนูและคนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่  และทุกท่านก็โบกธงและพูดพร้อมกันว่า...
           ขอให้ท่านทรงพระเจริญ  ทรงพระเจริญ  พร้อม ๆ กันเสียงก้องดังมาก  หนูคิดว่าสิ่งที่หนูเห็นและได้ยินนั้นคือ บารมีที่ท่านได้ทำไว้ทุกคนพร้อมใจกันเปล่งเสียงดังตะโกนโดยไม่มีใครมาบอกคนที่นั่งว่าต้องตะโกนแบบนี้นะ  แต่ทุกคน 
ก็เปล่งเสียงดังออกมาพร้อมกัน  หนูรู้สึกปลาบปลื้มใจมากจนขนลุกซู่
           หนูคงบรรยายความรู้สึกที่มีต่อท่านได้ไม่หมดหน้ากระดาษแค่แผ่นเดียว  เพราะทุกกิจกรรม ไม่ว่าที่เมืองทอง  
ที่ท้องสนามหลวง  หรือซุ้มที่ถนนราชดำเนินทั้งนอกและใน  และกับคนเป็นหมื่น ๆ ค่ะ ที่หนูไปต่อคิวเพื่อรอรับ
พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว 
           วันนั้นหนูยืนต่อคิวและกลับถึงบ้าน ตี หนูก็ทำมาแล้ว เพื่อพระฉายาลักษณ์ของท่านเพียงรูปเดียว และล่าสุดหนูได้ไปร่วมงานของสโมสรสันติบาลจัดขึ้น  เนื่องในวันฉัตรมงคลที่ลานพระรูปทรงม้า  หนูไปมาเมื่อวันที่ พ.ค. 53 
ไปนั่งดูพระกรณียกิจของท่าน  นั่งดูแล้วถึงกับน้ำตาซึมเลยทีเดียว  เพราะท่านทรงเหน็ดเหนื่อยมากจริง ๆ ค่ะ  แล้วหนูก็กลับมาคิดว่าตอนนี้ท่านไม่สบายอยู่ที่ รพ.ศิริราช  อาจเป็นเพราะเมื่อตอนที่ท่านร่างกายแข็งแรงท่านทรงทำงานหนักมากโดยไม่ย่อท้อเลย  พอท่านอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้ร่างกายของท่านทรุดโทรมมาก
           สำหรับหนูแล้ว  หนูคิดว่าท่านไม่ใช่คนธรรมดาคนหนึ่ง  แต่ท่านเกิดมาพร้อมบารมีอันศักดิ์สิทธิ์  ท่านเหมือนพระพุทธเจ้า  ซึ่งหนูคิดเองอยู่ตลอดเวลาสำหรับหนูแล้วกระดาษที่เป็นรูปท่าน  หรือปฏิทินหนูไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้นอกจากเก็บไว้ 
           อีกอย่างหนึ่งที่หนูอยากจะกล่าวในบทความนี้  คือการใช้ชีวิตแต่พอเพียงอย่างที่ท่านให้ข้อคิดไว้  ทุกวันนี้ท่านสอนเกษตรกร  หากมีพื้นที่ทำกินอยู่แปลงหนึ่ง  ต้องแบ่งทำมาหากินอย่างไรบ้าง  ส่วนหนึ่งปลูกบ้าน ส่วนหนึ่งเลี้ยงปลา อีกส่วนหนึ่งปลูกผัก  หนูเองก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น  หนูทำงานอยู่ที่นี่ถือว่าเงินเดือนหนูน้อยก็จริง  แต่หนูก็ใช้ชีวิตไม่ฟุ่มเฟือย แบ่งเงินเป็น ส่วน ส่วนหนึ่งเก็บฝากแบงค์ประจำ  ส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้จ่ายภายใน เดือน  อีกส่วนหนึ่งก็ซื้อของให้รางวัลตัวเองบ้าง  หนูอยากให้ทุกคนทำอย่างนี้ค่ะ  จะได้สบายไม่มีหนี้สินกัน 
           สุดท้ายนี้  หนูคิดว่าเพื่อเป็นการตอบแทนท่าน  หนูไม่ต้องคิดทำโครงการใหญ่โตอลังการหรอกค่ะ  แค่หนู
เป็นคนดีในสังคม  และไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นก็เพียงพอแล้วค่ะ  ท่านจะได้สบายใจ  ไม่เครียด และจะได้ไม่มี
ผลต่อกระทบต่อร่างกายของท่าน  ท่านจะได้มีความสุข  สุขภาพแข็งแรง  อยู่คู่บ้านคู่เมืองกับคนไทยทั้งประเทศตลอดไปยิ่งยืนนานค่ะ


เอกสารอ้างอิง

          กัลยา  สหชาติโกสีย์ และคณะ.  ๒๕๕๑.  หลักภาษาไทย ม.๒ (ครูมือครู).   
                      อักษรเจริญทัศน์ อจท.  กรุงเทพฯ.

          เทคนิคการเขียนเรียงความ. ๒๕๕๕. (ออนไลน์).  สืบคนจาก http://variety.horoworld.com

                       [๒๕ธันวาคม ๒๕๕๖]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น